-
ก่อน พ.ศ.2453 กองทัพบก รู้จักใช้สัตว์เป็นพาหนะและเป็นอาหารมานาน แต่ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนสัตว์ของกองทัพบก ยังมีน้อย ประกอบกับประเทศไทยยังมีพื้นที่ว่างเปล่าอันอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ทำให้ไม่ค่อยประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องการเลี้ยงสัตว์ กิจการด้านนี้ของกองทัพบกจึงไม่ได้มีการจัดเป็นอัตราของหน่วยที่แน่นอนกับยังมิได้มีการรวมการบังคับบัญชาอย่างเป็นปึกแผ่น
- พ.ศ.2453 เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยเป็นครั้งแรก ชื่อว่า แผนกอัศวแพทย์ ขึ้นอยู่กับกรมจเรการสัตว์พาหนะทหารบก และการทหารม้าและปืนใหญ่เทียมลากด้วยม้า เพื่อเป็นหน่วยที่ดำเนินการรักษาพยาบาลสัตว์ในกองทัพบก
- พ.ศ.2454 ร้อยโทหม่อมเจ้า ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ( ยศขณะนั้น ) นายทหารประจำแผนกจเรทหารม้า ซึ่งสำเร็จวิชาทหารม้า และวิชาสัตวแพทย์ จากประเทศรัสเซีย ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัตวแพทย์ทหารบก หลักสูตร 1 ปี ชื่อว่า โรงเรียน นายดาบสัตวรักษ์ ในปี พ.ศ.2455 โดยมีที่ตั้งที่ ถนนเศรษฐศิริ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ยศ.ทบ.) รุ่นแรกมีนักเรียน 8 คน นับว่าเป็นโรงเรียนสัตวแพทย์แผนปัจจุบัน แห่งแรกในประเทศไทย
- พ.ศ.2456 เริ่มก่อตั้งหน่วยผสมสัตว์ และเสบียงสัตว์ ขึ้นที่บ้านหัวสระ อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา มีหน้าที่ในการผสมพันธุ์ม้า โค และทำหญ้าแห้ง เปลี่ยนชื่อ โรงเรียน นายดาบสัตวรักษ์ เป็น โรงเรียน นายสิบสัตวรักษ์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนอัศวแพทย์ทหารบก หลักสูตร 5 ปี นักเรียน 20 คน โรงเรียนตั้งอยู่ที่ ต.บางกระบือ อ.บางซื่อ (เป็นที่ตั้ง ม.พัน.4 รอ.ในปัจจุบัน) ซึ่งพระองค์ท่านดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ หลักสูตรโรงเรียน อัศวแพทย์ทหารบกนี้ แบ่งหลักสูตรเป็น 5 ปี เมื่อจบหลักสูตร ได้รับประกาศนียบัตร อัศวแพทย์ ของกระทรวงกลาโหม ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ ร.ต. ออกไปรับราชการเป็น ผบ.มว. ตามหน่วยสัตวรักษ์ของกองพันทหาร กองพันทหารปืนใหญ่ หรือหน่วยผสมสัตว์ และเสบียงสัตว์
- พ.ศ. 2457 กองคชบาลกระทรวงวังย้ายมารวมกองผสมและเสบียงสัตว์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ พ.อ.พระพหลหาญศึก ฯ
- พ.ศ.2458 เกิดภาวะโรคระบาดขึ้นแก่ม้าและโค มีหน่วยผสมและเสบียงสัตว์ ต.หัวสระ จึงย้ายที่ตั้งหน่วยใหม่มาตั้งที่ ต.แก่งหีบ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา โดยห่างจากที่เดิม 10 กิโลเมตร
- พ.ศ.2459 จัดตั้งหน่วยผสมสัตว์และเสบียงสัตว์ขึ้นในพื้นที่เขาปะกง ต.เกาะสำโรง อ.เมือง จว.กาญจนบุรี
- พ.ศ. 2460 จัดตั้งโรงเรียนนายสิบอัศวแพทย์ ขึ้นโดยมี พันตรีหลวงอัศรผดุง เป็น ผู้บังคับบัญชาโรงเรียน (ระยะเวลาหลักสูตร1 ปี)
- ย้ายที่ตั้งกองการเสบียงสัตว์และผสมสัตว์ จาก ต.แก่งหีบ ไปอยู่ ต.จันทึก อ.สีคิ้ว โดย กรมการทหารช่าง ได้สนับสนุนการก่อสร้างฝายมอญเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและทำแปลงหญ้า (แต่ใช้ได้เพียง6 เดือนเกิดการชำรุด)
- จัดตั้งหน่วยผสมสัตว์และเสบียงสัตว์ขึ้นที่บ้านระฆัง อ.เมือง จ.พิจิตร และ ที่ ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยได้แยกออกจากหน่วยจันทึกเมื่อพ.ศ.2462 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อจากเดิม “หน่วยผสมสัตว์และเสบียงเขาปะกง” เป็น“ที่ทำการผสมสัตว์เขาปะกง” โดยให้ขึ้นตรงต่อหน่วยจันทึก มี ร.อ.งิ้ว อุทยานวรรณะ เป็น ผู้บังคับหน่วยคนแรก
- พ.ศ.2463 ย้าย โรงเรียนนายสิบอัศวแพทย์ (ระยะเวลาหลักสูตร 3ปี) มาอยู่ที่ กรมจเรทหารม้า ถนนเศรษฐศิริ อำเภอดุสิต โดยมี หลวงคล่องรักษ์สัตว์ เป็นผู้บังคับหน่วย
- พ.ศ.2465 กองทัพบกได้มอบหมายให้ กรมจเรสัตว์พาหนะและการทหารม้า เป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบการผสมพันธุ์ ม้า โค จัดทำแปลงหญ้าและการสัตวรักษ์ โดยแต่งตั้ง พล.ท.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เป็นผู้บังคับบัญชากรมและให้ขึ้นตรงต่อจเรทหารบก
- พ.ศ.2469 พล.ท.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช สิ้นพระชนม์ พล.ต.ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ จึงเข้าดำรงตำแหน่ง “จเรสัตว์พาหนะทหารบกและกรมทหารม้า” แทน พร้อมกับได้จัดตั้ง “โรงเรียนนายดาบสัตวแพทย์ ” ขึ้น
- เปลี่ยนชื่อ “ที่ทำการผสมสัตว์และเสบียงสัตว์เขาปะกง” เป็น “กองเสบียงสัตว์เขาปะกง” และเปลี่ยนชื่อ “ที่ทำการผสมสัตว์และเสบียงสัตว์จันทึก” เป็น “กองเสบียงสัตว์จันทึก”
- พ.ศ.2473 จัดตั้งแผนกเสบียงสัตว์ขึ้นอีกจำนวนหนึ่งหน่วย โดยมีกองบังคับการอยู่ภายในกระทรวงกลาโหม ขึ้นตรงต่อกรมพลาธิการทหารบกแต่งตั้งให้ อำมาตย์โทพระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นหัวหน้าแผนกท่านแรก พร้อมกับโอนกิจการของกองเสบียงสัตว์เขาปะกงและกองเสบียงสัตว์จันทึก จากกรมจเรทหารม้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกเสบียงสัตว์ คงเหลือเพียงแต่การผสมพันธุ์สัตว์และสัตวแพทย์ ที่ยังคงขึ้นอยู่กับกรมจเรทหารม้าตามเดิม
- แผนกเสบียงสัตว์ได้จัดตั้งหน่วยผลิตหญ้าแห้งขึ้นอีก จำนวน 2 หน่วย คือ หมวดเสบียงสัตว์โคกกระเทียมและหมวดเสบียงสัตว์ปราจีนบุรี โดย อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้ดำเนินการปรับปรุงวิธีการปลูกพืชอาหารสัตว์ ด้วยการจัดหาหญ้าพันธุ์ดีมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น หญ้าซูดาน หญ้ามอริเชิ้ส หญ้าเซนโทรชิม่า เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์หญ้าต่างๆ เหล่านี้ ปัจจุบัน กรมการสัตว์ทหารบก ยังมีการใช้เป็นสายพันธุ์หลักในการเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์จนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้การพัฒนาปรับปรุงด้านการเพาะปลุกแล้ว ยังได้ริเริ่มและจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องยนต์และเครื่องจักรกลมาใช้ในการกสิกรรมและการทำหญ้าแห้งอีกด้วย
- พ.ศ.2474 โอนกิจการหมวดเสบียงสัตว์โคกกระเทียม ไปตั้งที่ จ.นครสวรรค์ โดยให้เรียกชื่อว่า “หมวดเสบียงสัตว์นครสวรรค์”
- พ.ศ.2475 ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในระยะนี้กิจการด้านสัตวรักษ์และการเสบียงสัตว์มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก นักเรียนนายดาบและนักเรียนนายสิบสัตวแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาได้ออกไปประจำกรมกองต่างๆ ที่มีสัตว์หลายต่อหลายรุ่นด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อนำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนไปทำการรักษาพยาบาลสัตว์ นอกจากนี้ บางส่วนยังได้รับโอกาสให้ไปรับราชการในสังกัดกระทรวงอื่นที่มีการเลี้ยงสัตว์ด้วยนับได้ว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานที่ได้ริเริ่มวิชาการด้านสัตวแพทย์ขึ้นในประเทศไทยโดยพระปรีชาสามารถของ พลตรีหม่อมเจ้า ทองฑีฆายุ ทองใหญ่เป็นกำลังหลักที่สำคัญ
- ต่อมาในปีเดียวกัน ได้เปลี่ยน “แผนกเสบียงสัตว์” เป็น “กรมเสบียงสัตว์ทหารบก” โดยมี พันเอกหม่อมเจ้า นิวัทธวงศ์ เกษมสันต์ เป็นผู้บังคับบัญชา ต่อมาได้แปรสภาพเป็น “กรมเกียกกายทหารบก” ขึ้นตรงต่อกรมพลาธิการทหารบก และโอนกิจการการผสมพันธุ์ม้ากับการสัตวรักษ์ของ แผนกที่2 กรมจเรทหารบกมาขึ้นกับกรมเกียกกายทหารบก
- พ.ศ.2482 รับพันธุ์ม้ามาจากต่างประเทศ มาเพื่อผสมพันธุ์ มีการจัดส่งพ่อม้าไปทำการผสมพันธุ์กับแม่ม้าของประชาชน พร้อมกับจัดให้มีการประกวดม้าในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีผู้นิยมเลี้ยงม้ากันมากขึ้น
- พ.ศ.2483 จัดตั้งกองผสมม้าเชียงใหม่ขึ้น
- พ.ศ.2484 แผนกที่2 กรมจเรทหารบก ได้เปลี่ยนชื่อเป็น แผนกทหารม้า เพื่อความเหมาะสมและได้ขยายเป็น กรมจเรทหารม้า
- พ.ศ.2485 พันเอก น้อม เกตุนุติ เป็นจเรทหารม้าพันเอกหลวงชิตโยธิน เป็นหัวหน้าแผนกการสัตว์พาหนะขึ้นตรงต่อกรมจเรทหารม้า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2485 ประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้กิจการด้านการการสัตว์พาหนะต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว
- พ.ศ.2486 ได้มีการจัดตั้งสถานีพ่อม้าขึ้นที่บ้านท่าพระ จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นการส่งเสริมและบำรุงพันธุ์ม้าให้แก่ราษฎร ทั้งนี้ เนื่องจากทางราชการได้เกณฑ์ม้าของประชาชนไปใช้ในราชการสงครามเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการเร่งรัดการผสมพันธุ์โคให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณโคในอันที่จะนำไปใช้แรงงานแทนเครื่องยนต์ เพราะในยุคสมัยนั้นเครื่องยนต์เป็นสิ่งหายาก ทำให้การผลิตโคในครั้งนั้นได้ผลก้าวหน้าเป็นอย่างดี มีการเพิ่มผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
- พ.ศ.2489 “แผนกการสัตว์พาหนะ” กลับไปรวมกับ “กรมจเรทหารม้า” อีกครั้งหนึ่งและปีนี้ “กรมจเรทหารม้า” เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมจเรทหารม้าและการสัตว์พาหนะ”และได้แยก “แผนกการสัตว์พาหนะ” ซึ่งเดิมรวมกันอยู่ที่ถนนเศรษฐศิริ (ที่ตั้ง ยศ.ทบ.ในปัจจุบัน) มาอยู่ที่กองโรงพยาบาลสัตว์ ถนนศรีอยุธยา
- พ.ศ.2490 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ทบ. เพื่อปรับปรุงนโยบายส่งเสริมบำรุงพันธุ์ม้าขึ้น โดยคณะกรรมการดังกล่าว ได้ลงมติเห็นควรให้ส่งพ่อพันธุ์ม้าไปประจำหน่วย ณ กรมกองทหารที่มีกองและหมวดสัตวรักษ์ตั้งอยู่ในอัตรา
- พ.ศ.2491 “แผนกการสัตว์พาหนะ” ซึ่งเดิมรวมอยู่กับกรมจเรทหารม้าและสัตว์พาหนะ (ตั้งแต่ พ.ศ.2489 นั้น) ได้แยกการปกครองจาก “กรมจเรทหารม้าและการสัตว์ทหารม้า” เป็น“กรมการสัตว์พาหนะทหารบก” ขึ้นตรงต่อกรมพลาธิการทหารบก โดยมี พันเอกหลวงชิตโยธิน เป็น เจ้ากรมการสัตว์พาหนะทหารบก และพันโทไตรเดช ปั้นตระกูล เป็นรองเจ้ากรมฯ และ พันเอกหลวงสนั่นรักษ์สัตว์ เป็นนายทหารเทคนิค นับเป็นปีแรกที่เริ่มกำเนิด “กรมการสัตว์ทหารบก” อย่างแท้จริง เพราะได้รวมสายงานที่เกี่ยวข้องกับการสัตว์ทั้งปวงมาอยู่ในการอำนวยการของเจ้ากรมการสัตว์พาหนะแต่เพียงผู้เดียว โดยมิได้ควบรวมสายงานอื่นเข้าร่วมเช่นที่แล้วมา มีหน่วยขึ้นตรงคือ.-
- แผนกที่2 กรมจเรทหารบกได้เปลี่ยนชื่อเป็น แผนกทหารม้า เพื่อความเหมาะสม และได้ขยายเป็น กรม
- แผนกผสมสัตว์ มีหน่วยขึ้นตรง4 หน่วยกองการผสมม้ากาญจนบุรี
-
- กองการผสมม้าเชียงใหม่
- สถานีพ่อม้ากรุงเทพฯ
- สถานีพ่อม้าท่าพระ
- แผนกเสบียงสัตว์ มีหน่วยขึ้นตรง3 หน่วย
- กองการเสบียงสัตว์จันทึก
- กองการเสบียงสัตว์นครสวรรค์
- กองการเสบียงสัตว์ปราจีนบุรี
- แผนกสัตวรักษ์ มีหน่วยขึ้นตรง4 หน่วย
-
- กองโรงพยาบาลสัตว์
- กองคลังยาและเวชภัณฑ์
- กองการศึกษา
- หมู่เสนารักษ์
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2492 เป็นต้นมา กิจการของกรมการสัตว์พาหนะทหารบกในทุกสายงานได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากการรวบรวมสายงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นปึกแผ่นเดียวกัน อีกประการหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญคือ การที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้จัดทำงบประมาณประจำปีในการส่งเสริมบำรุงพันธุ์ม้าโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในวงเงินปีละ 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)
- พ.ศ.2494 ได้เริ่มทำการผสมม้า โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ คือ การผสมเทียมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สถานีพ่อม้ากรุงเทพ ตำบลพญาไท และในปีเดียวกันนี้พันเอกหลวงชิตโยธิน เจ้ากรมการสัตว์พาหนะทหารบก ได้ย้ายไปสำรองราชการ ณ กองทัพบก พันเอก ไตรเดช ปั้นตระกูล รองเจ้ากรมการสัตว์พาหนะทหารบก(ขณะนั้น) จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น เจ้ากรมการสัตว์พาหนะทหารบก
- พ.ศ.2496 กรมการสัตว์พาหนะทหารบก ได้แยกออกจาก กรมพลาธิการทหารบก มาเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบกและเปลี่ยนชื่อเป็น“ กรมการสัตว์ทหารบก ” ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมพิเศษ ที่ 59/23640 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 โดยแต่งตั้งให้ พล.ต.ไตรเดช ปั้นตระกูล เป็น เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก มีที่ตั้งอยู่ที่ ถนนศรีอยุธยา ตำบลพญาไท จังหวัดกรุงเทพฯ โดยมีหน่วยขึ้นตรง 8 หน่วย ดังนี้.-
- กองการผสมสัตว์
- กองการเสบียงสัตว์
- กองการสัตวรักษ์
- กองสัตวภัณฑ์
- กองวิทยาการ
- หมวดเสนารักษ์
- ฝ่ายการเงิน
- ฝ่ายพลาธิการ
- พ.ศ.2514 กองทัพบก ได้อนุมัติจัดตั้งหน่วยทหาร กองพันสัตว์ต่าง แต่ให้ฝากการบังคับบัญชาไว้กับกรมการสัตว์ทหารบก
- พ.ศ.2515 กรมการสัตว์ทหารบก ได้ย้ายที่ตั้งจากถนนศรีอยุธยา มาตั้งอยู่ ณ บ้านต้นสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
- พ.ศ.2526 กองทัพบก ได้อนุมัติจัดตั้ง กองร้อยสุนัขทหาร โดยให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมการสัตว์ทหารบก
- พ.ศ.2528 มีการโอน ศูนย์การสุนัขทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของ กรมการสัตว์ทหารบกกองทัพบก
- พ.ศ.2535 ได้รับพระราชทานนามชื่อค่ายในปัจจุบันเป็น“ ค่ายทองฑีฆายุ ”
- พ.ศ.2539 มีการแปรสภาพได้โดยควบรวม กองร้อยสุนัขทหารและกองสุนัขใช้งาน ในสังกัดของศูนย์การสุนัขทหาร ไว้ด้วยกัน พร้อมกับจัดตั้งเป็นหน่วยใหม่ในนาม กองพันสุนัขทหาร
- หมวด: เกี่ยวกับหน่วย
- ฮิต: 3355